โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ (พระบัญญัติ ภิกษุแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ ต้องอาบัติ)

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)

 

โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐

(พระบัญญัติ ภิกษุแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ ต้องอาบัติ)

 

อนึ่ง...ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ 

เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

 

เล่ม ๓ หน้า ๙๗๑-๙๘๓ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๙๑๖-๙๒๗ (ปกสีแดง)

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓

 

โกสิยวรรค  สิกขาบทที่  ๑๐

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร 

 

          [๑๑๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า

ประทับ อยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นผู้ชำนาญทำจีวรกรรม

เธอเอาผ้าเก่า ๆ ทำผ้าสังฆาฏิย้อมแต่งดีแล้วใช้ห่ม

          ขณะนั้นแล ปริพาชกผู้หนึ่งห่มผ้ามีราคามาก

เข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงสำนัก

ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า

ผ้าสังฆาฏิผืนนี้ของท่านงามแท้

จงแลกกันกับผ้าของข้าพเจ้าเถิด

          ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า ท่านจงรู้เอาเองเถิด

          ปริพาชกตอบสนองว่า ข้าพเจ้ารู้ ขอรับ

          ท่านพระอุปนันทศากยบุตรตอบว่า ตกลง ขอรับ แล้วได้ให้ไป 

          จึงปริพาชกนั้น ได้ห่มผ้าสังฆาฏิผืนนั้นไปสู่ปริพาชการาม

          พวกปริพาชกพากันรุมถามปริพาชกผู้นั้นว่า

สังฆาฏิผืนนี้ของท่านช่างงามจริง ท่านได้มาแต่ไหน

          ปริพาชกผู้นั้นตอบว่า

ผมเอาผ้าของผมผืนนั้นแลกเปลี่ยนมา

          พวกปริพาชกกล่าวว่า

ผ้าสังฆาฏิของท่านผืนนี้จักอยู่ได้สักกี่วัน

ผ้าของท่านผืนนั้นแหละดีกว่า

           ปริพาชกผู้นั้นเห็นจริงว่า

ปริพาชกทั้งหลายพูดถูกต้อง

ผ้าสังฆาฎิของเราผืนนี้ จักอยู่ได้สักกี่วัน

ผ้าผืนนั้นของเราดีกว่า แล้วเข้าไปหา

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๒ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงสำนัก

ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า

โปรดนำผ้าสังฆาฎิของท่านไป โปรดคืนผ้าของผมมา

          ท่านพระอุปนันทศากยบุตรพูดว่า

ข้าพเจ้าได้บอกท่านแล้วมิใช่หรือว่า

จงรู้เอาเองเถิด ข้าพเจ้าจักไม่คืนให้

          ปริพาชกนั้น จึงเพ่งโทษ ติเตียน

โพนทะนาขึ้นในทันใดนั้นแลว่า

ธรรมดาคฤหัสถ์ก็ยังคืนให้แก่คฤหัสถ์ผู้เดือดร้อน

ก็นี่บรรพชิตจักไม่คืนให้แก่บรรพชิตด้วยกันเทียวหรือ

          ภิกษุทั้งหลายได้ยินปริพาชกนั้น

เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่

บรรดาผู้ที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย

มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา

ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร

จึงได้ถึงการแลกเปลี่ยนกับปริพาชกเล่า

แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

 

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

 

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์

ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น

ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น

แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า

ดูก่อนอุปนันทะ ข่าวว่า เธอถึงการแลกเปลี่ยนกับปริพาชก จริงหรือ

          ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

 

ทรงติเตียน

 

          พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า

ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำ

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๓ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ

ไฉนเธอจึงได้ถึงการแลกเปลี่ยนกับปริพาชกเล่า

การกระทำของเธอนั่น

ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส

หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น

เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส

และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

 

ทรงบัญญัติสิกขาบท

 

          พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียน

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว

ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก

ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก

ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน

ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย

ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด

อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย

ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น

ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย

แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล

เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย

อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑

เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑

เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑

เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑

เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑

เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๔ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑

เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑

เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑

เพื่อถือตามพระวินัย ๑

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

 

พระบัญญัติ

 

          ๓๙.  ๑๐. อนึ่ง...ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ 

เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

 

รื่องพระอุปนันทศากยบุตร  จบ

 

สิกขาบทวิภังค์

 

          [๑๑๔] บทว่า  อนึ่ง...ใด  ความว่า ผู้ใด คือ

ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด

มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด

มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด

เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม

นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อนึ่ง. . .ใด.

          บทว่า  ภิกษุ  ความว่า

ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว

ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา

ชื่อว่า ภิกษุโดยปฏิญญา

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม

ชื่อว่า ภิกษุ  เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๕ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นอเสขะ

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบท

ให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบท

ให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ

นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้

          ที่ชื่อว่า  มีประการต่างๆ  ได้แก่

จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและ

เภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้

โดยที่สุด แม้ก้อนฝุ่น ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า.

          บทว่า  ถึงการแลกเปลี่ยน  คือ

ภิกษุพูดเป็นเชิงบังคับว่า

จงให้ของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้

จงนำของสิ่งนี้มาด้วยของสิ่งนี้

จงแลกเปลี่ยนของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้

จงจ่ายของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น

ต้องอาบัติทุกกฏ ในเวลาที่แลกแล้ว

คือของ ๆ ตนไปอยู่ในมือของคนอื่น และเปลี่ยนแล้ว

คือของ ๆ คนอื่นมาอยู่ในมือของตน เป็นนิสสัคคีย์

คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ก็แลภิกษุพึงเสียสละของสิ่งนั้น อย่างนี้:-

 

วิธีเสียสละ

 

เสียสละแก่สงฆ์

 

          ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์

ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า

กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า

นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

          ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่าง ๆ

ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ

ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๖ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

          ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ

พึงคืนของที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- 

          ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

ของสิ่งนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ

เธอสละแล้วแก่สงฆ์

ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว

สงฆ์พึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้

 

เสียสละแก่คณะ

 

          ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป

ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า

กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า

นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

          ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่าง ๆ

ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ

ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลาย

          ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ

พึงคืนของที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

          ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า

ของสิ่งนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ

เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย

ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว

ท่านทั้งหลายพึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.

 

เสียสละแก่บุคคล

 

          ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง

ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า

นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

          ท่าน ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่าง ๆ

ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ

ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่าน

          ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ

ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ

พึงคืนของที่เสียสละให้ด้วยคำว่า

ข้าพเจ้าให้ของสิ่งนี้แก่ท่าน  ดังนี้.

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๗ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

บทภาชนีย์

 

ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์

 

          [๑๑๕] แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าแลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

          แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

          แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

 

ทุกกฏ

 

          ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าแลกเปลี่ยน ต้องอาบัติทุกกฏ

          ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ

 

ไม่ต้องอาบัติ

 

          ไม่ได้เแลกเปลี่ยน ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน ไม่ต้องอาบัติ.

 

อนาปัตติวาร

 

          [๑๑๖] ภิกษุถามราคา ๑

ภิกษุบอกแก่กัปปิยการกว่า ของสิ่งนี้ของเรามีอยู่

แต่เราต้องการของสิ่งนี้และของสิ่งนี้ ดังนี้ ๑

ภิกษุวิกลจริต ๑

ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑

ไม่ต้องอาบัติแล. 

 

โกสิยวรรค  สิกขาบทที่  ๑๐  จบ

 

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ วรรคที่ ๒ จบ

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๘ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

หัวข้อประจำเรื่อง

 

๑. โกสิยสิกขาบท

ว่าด้วยการทำสันถัตเจือด้วยไหม

๒. สุทธกาฬกสิกขาบท

ว่าด้วยการทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน

๓. เทวภาคสิกขาบท

ว่าด้วยการทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน

๔. ฉัพพัสสสิกขาบท

ว่าด้วยการทรงสันถัตไว้ให้ได้ ๖ ฝน

๕. นิสีทนสันถตสิกขาบท

ว่าด้วยการทำสันถัตสำหรับนั่ง

๖. เอฬกโลมสิกขาบท

ว่าด้วยการรับขนเจียม

๗. เอฬกโลมโธวาปนสิกขาบท

ว่าด้วยการซักขนเจียม

๘. รูปิยอุคคหสิกขาบท

ว่าด้วยการรับทองเงิน

๙. รูปิยสังโวหารสิกขาบท

ว่าด้วยการซื้อขายด้วยรูปิยะ มีประการต่าง ๆ

๑๐. กยวิกกยสิกขาบท

ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนมีประการต่าง ๆ

 

โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐

พรรณนากยวิกกยสิกขาบท

 

          กยวิกกยสิกขาบทว่า  เตน สนเยน  เป็นต้น

ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป:-

ในกยวิกกยสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-

          คำว่า  กตีหิปิ ตฺยายํ  คือ

สังฆาฏิผืนนี้ ของท่านจักอยู่ได้กี่วัน.

ในบทว่า  กตีหิปิ  นี้  หิ  ศัพท์ เป็นปทปูรณะ

ปิ  ศัพท์เป็นไปในความ

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๙ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ตำหนิ. อธิบายว่า สังฆาฏิของท่านผืนนี้ชำรุด จักอยู่ได้สักกี่วัน,

อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า  กติหํปิ ตฺยายํ  ก็มี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  กติหํ  คือ สิ้นวัน เท่าไร.

มีคำอธิบายว่า ตลอดสักกี่วัน.

บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.

คำว่า  กตีหิปิ มฺยายํ  นี้

ก็พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.

          ในคำว่า  คิหึปิ นํ คิหิสฺส  นี้

ศัพท์ว่า  นํ  เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งนามศัพท์.

มีคำอธิบายว่า ธรรมดาว่าแม้คฤหัสถ์

ก็ยังคืนให้แก่คฤหัสถ์.

          บทว่า  นานปฺปการกํ  คือ มีอย่างมิใช่น้อย

ด้วยอำนาจแห่งกัปปิยภัณฑ์ มีจีวรเป็นต้น.

เพราะเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า  นานปฺปการํ  นั้น

ท่านจึงทรงแสดงเฉพาะกัปปิยภัณฑ์ตั้งต้นแต่จีวร

มีด้ายชายผ้าเป็นที่สุด.

จริงอยู่ การแลกเปลี่ยนด้วยอกัปปิยภัณฑ์

ย่อมไม่ถึงการสงเคราะห์เข้าในการซื้อขาย

 

[อธิบายการซื้อและขายที่ทำให้เป็นอาบัติ]

 

          บทว่า  กยวิกฺกยํ  ได้แก่ การซื้อและการขาย.

ภิกษุเมื่อถือเอากัปปิยภัณฑ์ของคนอื่นโดยนัยเป็นต้นว่า

ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ ชื่อว่าย่อมถึงการซื้อ,

เมื่อให้กัปปิยภัณฑ์ของตน ชื่อว่าย่อมถึงการขาย.

          บทว่า  อชฺฌาจรติ  คือ ย่อมประพฤติข่มขู่.

อธิบายว่า ย่อมกล่าววาจาล่วงเกิน.

          ข้อว่า  ยโต กยิตญฺจ โหติ วิกฺกีตญฺจ  มีความว่า

ในเวลาทำภัณฑะของผู้อื่นให้อยู่ในมือของตน ชื่อว่าซื้อ

และในเวลาทำภัณฑะของตนให้

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๘๐ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

อยู่ในมือของผู้อื่น ชื่อว่าขาย.

แต่ด้วยบทนี้ ในบาลีท่านแสดงภัณฑะ

ของตนก่อน โดยอนุรูปแก่คำว่า  อิมํ  เป็นต้น.

          บทว่า  นิสฺสชฺชิตพฺพํ  มีความว่า

พึงสละกัปปิยภัณฑ์ ที่รับเอาจากมือของคนอื่น

ด้วยอำนาจแห่งการซื้อขายอย่างนี้.

ก็การซื้อขายอย่างนี้กับพวกคฤหัสถ์ และนักบวชที่เหลือ

เว้นสหธรรมิกทั้ง ๕ โดยที่สุดแม้กับมารดาบิดา ก็ไม่ควร.

          วินิจฉัยในการซื้อขายนั้นดังต่อไปนี้:-

ผ้ากับผ้าก็ตาม อาหารกับอาหารก็ตาม จงยกไว้,

ภิกษุกล่าวถึงกัปปิยภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งว่า

ท่านจงให้สิ่งนี้ ด้วยสิ่งนี้ เป็นทุกกฏ.

ภิกษุกล่าวอย่างนั้นแล้วให้ภัณฑะของตน

แม้แก่มารดาก็เป็นทุกกฏ.

ภิกษุอันมารดากล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้

หรือกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ฉันจักให้สิ่งนี้แก่ท่าน

แล้วถือเอาภัณฑะแม้ของมารดาเพื่อตนก็เป็นทุกกฏ.

เมื่อภัณฑะของตนถึงมือของคนอื่น

และเมื่อภัณฑะของคนอื่นถึงมือของตน เป็นนิสสัคคีย์.

แต่เมื่อภิกษุกล่าวกะมารดาหรือบิดาว่า

ท่านจงให้สิ่งนี้ ไม่เป็นการออกปากขอ.

เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้

ไม่เป็นการยังสัทธาไทยให้ตกไป.

เมื่อภิกษุพูดกะผู้มิใช่ญาติว่า

ท่านจงให้สิ่งนี้ เป็นการออกปากขอ,

เมื่อพูดว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้

เป็นการยังสัทธาไทยให้ตกไป.

เมื่อภิกษุถึงการซื้อขายว่า

ท่านจงให้สิ่งนี้ ด้วยสิ่งนี้ เป็นนิสสัคคีย์.

เพราะฉะนั้น อันภิกษุผู้จะแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์

พึงแลกเปลี่ยนกับมารดาบิดาให้พ้นการซื้อขาย

กับพวกคนผู้มิใช่ญาติให้พ้นอาบัติ ๓ ตัว.

 

[อธิบายวิธีการแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์]

 

          ในกัปปิยภัณฑ์นั้น มีวิธีการแลกเปลี่ยนดังต่อไปนี้:-

ภิกษุมีข้าว-

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๘๑ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

สารเป็นเสบียงทาง.

เธอเห็นบุรุษถือข้าวสุกในระหว่างทางแล้วพูดว่า

เรามีข้าวสาร, และเราไม่มีความต้องการด้วยข้าวสารนี้

แต่มีความต้องการด้วยข้าวสุก ดังนี้.

บุรุษรับเอาข้าวสารแล้วถวายข้าวสุก ควรอยู่.

ไม่เป็นอาบัติทั้ง ๓ ตัว.

ชั้นที่สุด แม้เพียงสักว่านิมิตกรรมก็ไม่เป็น.

เพราะเหตุไร ?

เพราะมีมูลเหตุ.

และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ข้างหน้านั่นแลว่า

ภิกษุพูดว่า เรามีสิ่งนี้,

แต่มีความต้องการด้วยสิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้.

          อนึ่ง ภิกษุใด ไม่กระทำอย่างนี้

แลกเปลี่ยนว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ด้วยสิ่งนี้

เป็นอาบัติตามวัตถุแท้.

ภิกษุเห็นคนกินเดนกล่าวว่า

เธอจงกินข้าวสุกนี้แล้ว นำน้ำย้อมหรือฟืนมาให้ แล้วให้ (ข้าวสุก).

เป็นนิสสัคคีย์หลายตัวตามจำนวนสะเก็ดน้ำย้อมและจำนวนฟืน.

ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านบริโภคข้าวสุกนี้แล้ว จงทำกิจชื่อนี้

แล้วใช้พวกช่างศิลป์มีช่างแกะสลักงาเป็นต้น

ให้ทำบริขารนั้น ๆ บรรดาบริขารมีธมกรกเป็นต้น

หรือใช้พวกช่างย้อมให้ซักผ้า, เป็นอาบัติตามวัตถุทีเดียว.

ภิกษุให้พวกช่างกัลบกปลงผมให้พวกกรรมกรทำนวกรรม,

เป็นอาบัติตามวัตถุเหมือนกัน.

ก็ถ้าภิกษุไม่กล่าวว่า พวกท่านบริโภคอาหารนี้แล้ว จงทำกิจนี้

กล่าวว่า เธอจงบริโภคอาหารนี้, เธอบริโภคแล้ว, (หรือ) จักบริโภค,

จงช่วยทำกิจชื่อนี้ ย่อมสมควร.

ก็ในการให้ทำบริขารเป็นต้นนี้

ภัณฑะของผู้อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน

ชื่อว่าอันภิกษุพึงสละ ย่อมไม่มี

ในการซักผ้าหรือในการปลงผม หรือในนวกรรม

มีการถางพื้นที่เป็นต้นแม้ก็จริง,

ถึงอย่างนั้น เพราะท่านกล่าวไว้หนักแน่นในมหาอรรถกถา

ใคร ๆ ไม่อาจคัดค้านคำนั้นได้;

เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงแสดงปาจิตตีย์

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๘๒ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ในเพราะการจ้างซักผ้าเป็นต้นแม้นี้ เหมือนแสดงปาจิตตีย์

ในเพราะนิสสัคคิยวัตถุ ที่ตนใช้สอยแล้ว

หรือเสียหายแล้วฉะนั้น.

 

[อธิบายอนาปัตติวาร]

 

          ในคำว่า  กยวิกฺกเย กยวิกฺกยสญฺี  เป็นต้น

ผู้ศึกษาพึงทราบใจความอย่างนี้ว่า

ภิกษุใด ถึงการซื้อขาย,

ภิกษุนั้นจงเป็นผู้มีความสำคัญ

ในการซื้อขายนั้นว่าเป็นการซื้อขาย

หรือมีความสงสัย

หรือมีความสำคัญว่าไม่ใช่การซื้อขายก็ตามที

เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ทั้งนั้น.

ในจูฬติกะเป็นทุกกฏเหมือนกันทั้ง ๒ บท.

          สองบทว่า  อคฺฆํ ปุจฺฉติ  มีความว่า

ภิกษุถามว่า บาตรของท่านนี้ ราคาเท่าไร ?

แต่เมื่อเจ้าของบาตรกล่าวว่า ราคาเท่านี้

ถ้ากัปปิยภัณฑ์ของภิกษุนั้นมีราคามาก,

และภิกษุตอบอุบาสกนั้นไปอย่างนี้ว่า

อุบาสก ! วัตถุของเรานี้มีราคามาก,

ท่านจงให้บาตรของท่านแก่คนอื่นเถิด.

ฝ่ายอุบาสกได้ยินคำนั้น กล่าวว่า

ผมจะแถมกระถางอื่นให้อีก

จะรับเอาไว้ก็ควร.

ของนั้นตกไปในลักษณะที่ตรัสไว้ว่า เรามีสิ่งนี้ เป็นต้น.

ถ้าบาตรนั้นมีราคาแพง, สิ่งของของภิกษุมีราคาถูก,

และเจ้าของบาตรไม่รู้ว่าของนั้นราคาถูก,

ภิกษุอย่าพึงรับเอาบาตร.

พึงบอกว่า ของของเรามีราคาถูก.

จริงอยู่ เมื่อภิกษุกล่าวหลอกลวงว่า

มีราคามากรับเอา (บาตร) ไป

จะถึงความเป็นผู้อันพระวินัยธร

พึงให้ตีราคาสิ่งของแล้วปรับอาบัติ.

ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ช่างเถอะ ขอรับ !

ที่เหลือจักเป็นบุญแก่ผม แล้วถวาย ควรอยู่.

สองบทว่า  กปฺปิยการกสฺส อาจิกฺขติ  มีความว่า ภิกษุทำคนอื่น

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๘๓ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

เว้นคนที่ตนรับภัณฑะจากมือ

โดยที่สุดแม้เป็นบุตร หรือพี่น้องชายของเขา

ให้เป็นกัปปิยการกแล้วบอกว่า

เธอจงเอาสิ่งนี้ด้วย สิ่งนี้ ให้ด้วย.

ถ้าบุตรหรือพี่น้องชายนั้น

เป็นคนฉลาดคัดเลือกต่อรองซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้วจึงรับเอา,

ภิกษุพึงยืนนิ่งอยู่. ถ้าเขาเป็นคนไม่ฉลาด ไม่รู้จักจะถือเอา

พ่อค้า จะลวงเขา,

ภิกษุพึงบอกเขาว่า เธออย่าเอา ดังนี้.

          ในคำว่า เรามีสิ่งนี้ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้:-

ภิกษุกล่าวว่า น้ำมัน หรือเนยใสที่รับประเคนแล้วนี้ ของเรามีอยู่,

แต่เราต้องการของอื่นที่ยังไม่ได้ประเคน

ถ้าเขารับเอาน้ำมัน หรือเนยใสนั้น

ให้น้ำมันหรือเนยใสอื่น.

อย่าพึงให้ตวงน้ำมันของตนก่อน.

เพราะเหตุไร ?

เพราะยังมีน้ำมันที่เหลืออยู่ ในทะนานน้ำมัน.

น้ำมันที่เหลือนั้น จะพึงทำน้ำมันที่ยังไม่ได้รับประเคน

ของภิกษุผู้ตวงในภายหลังให้เสียไป ฉะนี้แล.

คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.

          สิกขาบทนี้ มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา

โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ.

ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม

มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

 

พรรณนากยวิกกยสิกขาบทที่ ๑๐ จบ

และจบวรรคที่ ๒

 

http://www.tripitaka91.com/3-971-1.html

D-study.com

ช่องทางการติดต่อ

facebook FaceBook

phone 0894453994